“ครอบครัวปศุสัตว์ลำปาง ยะด้วยใจ๋ ยะหื้อเวย ยะไ้ด้แต้”

สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดลำปางร่วมแถลงข่าว กิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว วันช้างไทยระหว่างวันที่ 11-13 มีนาคม 2566

วันที่ 11 มีนาคม 2566 เวลา 13.00 น. ที่สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ(ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย) นายสัตวแพทย์ศร ธีปฏิมากร ปศุสัตว์จังหวัดลำปาง ได้ร่วมแถลงข่าวกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว วันช้างไทย ประจำปี 2566 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 11-13 มีนาคม 2566 กับองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้จังหวัดลำปาง นายชัชวาลย์ ฉายะบุตร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง นายสุรัตน์ชัย อินทร์วิเศษ ผู้อำนวยการสำนักสถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ และนางปาลิตา คำปันนา รองผู้อำนวยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานลำปาง โดยมี หัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่ ประชาชน นักท่องเที่ยว และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมกิจกรรม

ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง กล่าวว่า จังหวัดลำปาง ได้กำหนดวิสัยทัศน์ "ลำปางเมืองแห่งการเรียนรู้ เชื่อมโยง สร้างสรรค์ น่าอยู่ ยั่งยืน " เป็นจังหวัดที่มีอายุเก่าแก่มีประวัติศาสตร์ที่ไม่น้อยกว่า 1,300 ปี เป็นเมืองที่มีความสำคัญในเรื่องการท่องเที่ยวทั้งเชิงวัฒนธรรม ธรรมชาติและการสร้างสรรค์ จังหวัดลำปาง จึงร่วมกับ สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ (ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย) และสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดลำปาง จัดโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยววันช้างไทย ประจำปี 2566

ผู้อำนวยการสำนักสถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ กล่าวว่า สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ มีจุดเริ่มต้นในปี พ.ศ. 2534 เมื่อองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ได้จัดตั้ง "ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย" ขึ้น เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสอันเป็นมงคล ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เจริญพระชนมายุครบ 3 รอบ โดยได้ย้ายศูนย์ฝึกช้างจาก อ.งาว มาเป็น "ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย" ถ.ลำปาง-เชียงใหม่ ต.เวียงตาล อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง เนื่องจากมีสถานที่กว้างขวาง เหมาะกับการอาศัยของช้าง ทั้งยังสามารถขยายขอบเขตการอนุรักษ์และบริบาลช้างไทยให้ครอบคลุมทุกแง่มุม และเกิดการอนุรักษ์ช้างไทยอย่างยั่งยืน ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงเสด็จมาเปิดศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2535 เพื่อเป็นการอนุรักษ์ศิลปะและเอกลักษณ์การทำไม้ด้วยช้างของไทยไว้ และยังจะเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูล ความรู้เกี่ยวกับเรื่องช้าง เพื่อการศึกษาค้นคว้า หรือทำงานวิจัยอันจะเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดตั้งองค์การสากลเพื่ออนุรักษ์ช้างในประเทศไทย และได้รับความไว้วางใจให้เป็นสถานที่ดูแลช้างต้นหรือช้างสำคัญของพระมหากษัตริย์ถึง 6 ช้าง ในพื้นที่ของโรงช้างต้น จวบจนวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2545 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา กรมหลวงนคราธิวาส ราชนครินทร์ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับ "ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย" เป็น "สถาบันคชาบาลในพระอุปถัมภ์" จวบจนถึงปัจจุบัน ซึ่งนับว่าเป็นสิริมงคลและเป็นมิ่งขวัญในการพัฒนาสถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ ให้เจริญต่อไป และเป็นปางช้างแห่งเดียวในประเทศไทยที่เป็นของรัฐบาล ภายในสถาบัน มีการดูแลศูนย์ข้อมูลเกี่ยวกับช้าง รวมถึงการบริการนักท่องเที่ยว ทั้งการแสดงช้าง ที่พักโฮมสเตย์ กระบวนการผลิตกระดาษมูลช้าง โรงงานผลิตก๊าซชีวภาพของมูลช้าง ปัจจุบันได้ร่วมมือกับองค์กรอื่นๆ ของรัฐและเอกชน ในการช่วยเหลือช้างของประเทศมากกว่า 3,000 เชือก และ ได้ก่อตั้งโรงพยาบาลช้างและโครงการสัตวแพทย์สัญจรซึ่งถือว่า เป็นแห่งแรกของประเทศไทยโดยทำการรักษาช้างทุกเชือก จึงทำให้สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ (ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักแพร่หลายทั้งในและต่างประเทศ

กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย วันที่ 12 มีนาคม 2566 ประกอบพิธีฮ้องขวัญช้าง พิธีบำเพ็ญกุศลอุทิศให้กับช้าง การประกวดจัดซุ้มอาหารช้างของหน่วยงานต่างๆ (งดการกิจกรรมการแสดงช้างและกิจกรรมนั่งหลังช้าง) วันที่ 13 มีนาคม 2566 ประกอบพิธทำบุญตักบาตรข้าวสารอาหารแห้ง พระสงฆ์จำนวน 16 รูป ชมการจัดแสดงการประกวดซุ้มอาหารช้างและนิทรรศการของแต่ละหน่วยงาน เยี่ยมชมกิจกรรมต่างๆ และร่วมทำบุญเลี้ยงอาหารช้าง ทั้งนี้ ขอเชิญชวนประชาชนชาวจังหวัดลำพูนและจังหวัดใกล้เคียง ร่วมกิจกรรมวันช้างไทย ประจำปี 2566 เพื่อให้คนไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญของช้างไทย และร่วมอนุรักษ์ช้างไทยซึ่งเป็นสัตว์สัญลักษณ์ของชาติมิให้สูญพันธุ์และเป็นสมบัติของชาติสืบไป

img 1


ที่มา : สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดลำปาง